ในแง่ของศาสตร์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น วิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นหนึ่งในห้าสาขาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วย วิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบสารสนเทศ วิศวกรรมซอฟต์แวร์ และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
คำว่า วิทยาการคอมพิวเตอร์ มีความหมายเทียบเท่ากับคำในภาษาอังกฤษ คือ computer science (หรือในสหราชอาณาจักร นิยมใช้คำว่า computing science โดยมีความหมายต่างกันเล็กน้อย)
คำที่ใช้ในภาษาฝรั่งเศสคือ Informatique จาก "information" (สารสนเทศ) และ "automatique" (อัตโนมัติ) บัญญัติโดย Philippe Dreyfus ในปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) ซึ่งคำในภาษาอิตาลี Informatica และภาษาสเปน Informática ก็มีที่มาจากคำในภาษาฝรั่งเศสคำนี้ ส่วนคำที่ใช้ในภาษาเยอรมันคือ Informatik ซึ่งก็ดูคล้ายกัน และมีรากจากคำทั้งสองเหมือนกัน แต่ได้ถูกบัญญัติใช้ในเยอรมันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 (ค.ศ. 1957) และเมื่อไม่นานมานี้ ในภาษาอังกฤษเอง ก็ได้มีการใช้คำว่า informatics ซึ่งก็มาจากรากเดียวกัน แต่มักใช้หมายความถึง information science (สารสนเทศศาสตร์) หรือในบางครั้งใช้แทนคำว่า computer science (หรือ computing scince) แต่กินความหมายที่กว้างไปกว่าคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักร โดยรวมถึงการคำนวณและสารสนเทศในธรรมชาติด้วย
สำหรับภาษาไทย คำว่า "computer science" แต่เดิมในภาษาไทยเรียกทับศัพท์ว่า "คอมพิวเตอร์ไซแอนส์" [1] โดยเป็นชื่อของหน่วยงานหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกในประเทศไทยที่สอนวิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ต่อมาได้ย้ายมาเป็นภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ และยังคงหลักสูตรวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มหาบัณฑิตไว้ ซึ่งเป็นหลักสูตรเดียวในประเทศที่ใช้คำว่า "วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์" ส่วนหน่วยงานที่เปิดสอนวิชานี้ในระดับปริญญาตรีแห่งแรกในประเทศไทยคือ สาขาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (ชื่อเดิม) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสาเหตุที่เดิมเรียกว่า "ศาสตร์คอมพิวเตอร์" เนื่องจากคำว่า "ไซน์" ในความหมายนี้คือ "ศาสตร์" เช่นเดียวกับใน สังคมศาสตร์ หรือ โซเชียลไซน์ (social science)
ต่อมาราชบัณฑิตยสถานได้กำหนดคำว่า "วิทยาการคอมพิวเตอร์" ให้มีความหมายตรงกับคอมพิวเตอร์ไซน์ขึ้น ทำให้หน่วยงานที่ต่างๆ ปรับมาใช้คำว่า วิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือใช้คำศัพท์อื่นๆ ที่มีความหมายใกล้เคียงตามแต่ละสถาบันกำหนด เช่น วิทยาการคณนา ซึ่งมาจากศาสตร์แห่งการคำนวณเชิงคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีการเรียนการสอนเน้นทางด้านการคำนวณคณิตศาสตร์สำหรับงานคอมพิวเตอร์มากกว่า การศึกษาองค์ความรู้ที่เกียวกับคอมพิวเตอร์โดยตรง หรือ สาขาที่ใกล้เคียงอย่าง คณิตศาสตร์ประยุกต์ เป็นต้น
วิทยาการคอมพิวเตอร์ทำให้เราเข้าใจถึงหลักการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นรากฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศจะเน้นด้านการใช้งาน วิทยาการคอมพิวเตอร์จะเน้นทฤษฏีและหลักการ วิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งที่ผสมผสานระหว่าง ศาสตร์ด้านไฟฟ้าอีเล็กทรอนิกส์ คณิตศาสตร์หลายแขนง เช่น ตรรกศาสตร์ สถิติ เรขาคณิต รวมเทคนิคหรืออัลกอริธึมในการเขียนโปรแกรม
วิทยาการคอมพิวเตอร์นั้นมีลักษณะเด่นคือมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก วิทยาการใหม่ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้นเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ทุกวัน โดยคอมพิวเตอร์มีขนาดเล็กลง มีความเร็วสูงขึ้น มีการคิดวิธีการคำนวณใหม่ๆ ทำให้โปรแกรมมีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีการคิดคอมพิวเตอร์ประเภทใหม่ๆ หรือสถาปัตยกรรมใหม่ๆ เช่น การเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์หลายร้อยหลายพันตัวให้คำนวณหรือทำงานร่วมกัน เพื่อให้ได้คำตอบที่เร็วขึ้นหรือถูกต้องมากขึ้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการศึกษาหลักการหรือวิธีการ ในการรับส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายเน็ตเวิร์คหรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ต วิธีการในการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในอุตสาหกรรม เช่น หลักการวางระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มผลผลิตในโรงงาน หลักการควบคุมดูแลเครื่องจักรเพื่อผลิตสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ และกระบวนการผลิตเป็นแบบอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังคิดหลักการ ทฤษฏีที่เกี่ยวกับการนำเอาคอมพิวเตอร์ไปใช้ในงานระดับสูงอื่นๆ เช่น งานด้านชีววิทยา เพื่อหารหัสพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิต งานด้านการแพทย์เพื่อควบคุมดูแลประวัติของผู้ป่วยและพัฒนาระบบวินิจฉัยโรคอัตโนมัติ งานด้านฟิสิกส์ เคมี เพื่อสร้างแบบจำลองหรือโมเดลก่อนทำการทดลองจริง
ในยุคต่อไป คอมพิวเตอร์จะมีขนาดเล็กลง มีความเร็วสูงขึ้น และมีหน่วยความจำมากขึ้น และที่สำคัญ ราคาของคอมพิวเตอร์จะถูกลงมาก ดังนั้นคอมพิวเตอร์จะเข้ามามีบทบาทในสังคมของเรามากขึ้น โดยเราจะเรียกสังคมนี้ว่าสังคมยูบิคิวตัส (ubiquitous) คือมีคอมพิวเตอร์อยู่ทุกหนทุกแห่ง ดังนั้นการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะการนำมาใช้ในปัญหาที่ซับซ้อน และหลักการสร้างระบบหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดใหญ่จะเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้นจะช่วยเราค้นหาคำตอบในสิ่งเหล่านี้ได้
วิทยาการคอมพิวเตอร์เรียนเกี่ยวกับอะไร
ในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ จะศึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับหลักการทำงานของคอมพิวเตอร์และรวมไปถึงการศึกษาในเชิงปฏิบัติเพื่อนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานต่างๆ โดยศึกษาทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ตามหมวดหมู่ดังนี้
- หลักการหรือทฤษฏีการเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์
ศึกษาถึง วิธีการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่างๆ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งภาษาที่ศึกษาหลักๆ ได้แก่ ภาษาซี ภาษาจาวา ภาษาพีเฮชพี และภาษาเอสคิวแอล เป็นต้น นอกจากนี้ยังศึกษาถึงหลักการเขียนโปรแกรมหรืออัลกอริธึม และศึกษาว่ามีโครงสร้างข้อมูลอะไรบ้างที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม รวมทั้งศึกษาว่า ภาษาที่ใช้ในการโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร และศึกษาวิธีการแปลงภาษาระดับสูงที่มนุษย์เข้าใจ ไปเป็นภาษาเครื่องที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ รวมทั้งศึกษาวิธีการเขียนและออกแบบซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่จะเขียนด้วย และศึกษาหลักการและการออกแบบระบบขนาดใหญ่ - หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับโครงสร้างของคอมพิวเตอร์และการควบคุมคอมพิวเตอร์
ศึกษาว่า คอมพิวเตอร์ประกอบด้วยวงจรไฟฟ้าแบบดิจิตอลอย่างไร และศึกษาว่าคอมพิวเตอร์มีโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมเป็นแบบใด และศึกษาว่านอกจากฮาร์ดแวร์แล้วคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีโปรแกรมพื้นฐาน ไว้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า ระบบปฏิบัติการหรือโอเอส รวมทั้งศึกษาวงจรคอมพิวเตอร์เฉพาะงาน ที่เรียกว่าไมโครโปรเซสเซอร์ และศึกษาหลักการและวิธีการเข้ารหัส และการถอดรหัสคอมพิวเตอร์ ศึกษาการควบคุมความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ - หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสาร
ศึกษาถึง พื้นฐานของการสื่อสารข้อมูล โครงสร้างและโปรโตคอลของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ค) การนำคอมพิวเตอร์มาเชื่อมโยงกันเพื่อใช้งานร่วมกัน รวมทั้งศึกษาถึง การนำคอมพิวเตอร์ไปให้บริการต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เช่น มือถือ เครื่องปาล์ม เป็นต้น - หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในงานด้านกราฟิก มัลติเมเดีย
ศึกษาถึง การประยุกต์คณิตศาสตร์ไปใช้กับการออกแบบชิ้นงานที่มีรูปร่างต่างๆ ซึ่งศาสตร์ด้านนี้รู้จักในชื่อของ ซอฟต์แวร์ประเภทแคด/แคม รวมทั้งการนำคอมพิวเตอร์ไปจัดการกับภาพและเสียง - หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ทำงานที่ชาญฉลาด
ศึกษาถึง วิธีการสร้างระบบสารสนเทศที่มีความชาญฉลาด หรือศาสตร์ที่ชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะศึกษาเกี่ยวกับระบบสารสนเทศที่เลียนแบบมนุษย์ เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ ระบบวิเคราะห์ภาพ ระบบวิเคราะห์เสียง เป็น - หลักการหรือทฤษฏีที่เกี่ยวกับการทำงานของการคำนวณและการประยุกต์ใช้งานระดับสูง
ศึกษาถึงหลักการที่คอมพิวเตอร์ใช้ในการคำนวณ ซึ่งเป็นทฤษฏีระดับสูง และศึกษาการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้งานระดับสูงซึ่งมีความยาก เช่น การประยุกต์ไปใช้งานด้านชีวภาพ การประยุกต์ใช้งานมัลติเมเดียระดับสูง การสกัดความรู้ที่สำคัญและน่าสนใจจากข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น
สาขาที่เกี่ยวข้องวิทยาการคอมพิวเตอร์ หรือศาสตร์คอมพิวเตอร์มีความสัมพันธ์กับสาขาอื่นๆ อีกหลายศาสตร์ ถึงแม้ว่าในแต่ละศาสตร์ จะครอบคลุมเนื้อหาที่เหมือนกันอยู่อย่างเห็นได้ชัด แต่ว่าแต่ละศาสตร์ หรือสาขาก็จะมีลักษณะสำคัญ และระดับของการศึกษ การวิจัย และการประยุกต์ใช้แตกต่างกันไปจากสาขาอื่นๆ
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นการศึกษาเกี่ยวกับ การใช้หลักการวิศวกรรม ซึ่งเริ่มตั้งแต่การเก็บความต้องการ การออกแบบ การสร้าง การทดสอบ วิเคราะห์ จนถึงการบำรุงรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ หรือ ระบบอุปกรณ์ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทั้งซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ การสื่อสาร ควบคู่กับความรู้ทางด้านวิศวกรรมวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (วิศวกรรมส่วนชุดคำสั่ง) เน้นที่กระบวนการวิศวกรรมสำหรับระบบซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ โดยเริ่มด้วยการวิเคราะห์ความต้องการ, การออกแบบ, การพัฒนา, การทดสอบ ตลอดจนถึงการบำรุงรักษาระบบซอฟต์แวร์
วิทยาการสารสนเทศ (สารสนเทศศาสตร์) เป็นการศึกษาเกี่ยวกับภาคทฤษฎีสารสนเทศ เริ่มตั้งแต่การรับรู้, การทำความเข้าใจ, การวิเคราะห์, การจัดเก็บ, การค้นคืน, การสร้าง, การโต้ตอบ, การสื่อสาร, และ การจัดการข้อมูลและสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศ เน้นการประยุกต์ใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดกับสังคม ธุรกิจ องค์กร หรืออุตสาหกรรม
ระบบสารสนเทศ เป็นการศึกษาการใช้งานคอมพิวเตอร์ สำหรับระบบการทำงานที่อาศัยข้อมูลสารสนเทศ เพื่อจุดประสงค์ในการช่วยเหลือสนับสนุน การดำเนินงานต่างๆ ภายในองค์กร โดยคำประยุกต์ใช้งานนั้น จะมีความหมายครอบคลุมถึง การออกแบบ,ใช้งาน, การติดตั้ง, และการบำรุงรักษา ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, ซอฟต์แวร์, เครือข่าย, บุคลากร หรือข้อมูล
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ เป็นสาขาย่อยของระบบสารสนเทศ โดยจะเน้นที่ระบบสารสนเทศ ที่จัดการเกี่ยวกับการบริหารจัดการการเงิน และบุคลากร
วิทยาการคอมพิวเตอร์ต่างกับเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างไร
ที่จริงแล้วสองสาขานี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก โดยวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้นถือกำเนิดมาก่อนเทคโนโลยีสารสนเทศ และจะเน้นด้านทฤษฏีเป็นหลัก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ โครงสร้างของเครื่องคอมพิวเตอร์ หลักการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ การผลิตซอฟต์แวร์ที่มีขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ การนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับงานชั้นสูงที่มีความซับซ้อนมาก จุดเด่นของวิทยาการคอมพิวเตอร์คือ เน้นศึกษาวิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีสมรรถนะที่สูงขึ้น และศึกษาวิธีการผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพเพื่อใช้งานคอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีนั้น ได้ถูกกล่าวถึงกันมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เองหลังจากอินเตอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย โดยเทคโนโลยีสารสนเทศจะเน้นการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านธุรกิจ งานด้านการสื่อสาร งานในสายการผลิต งานด้านบริการ เป็นต้น เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นค่อนข้างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จุดเด่นของเทคโนโลยีสารสนเทศคือ เน้นศึกษาวิธีการนำคอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ใช้งาน จัดการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศ ซึ่งรวมไปถึงเทคโนโลยีระบบเคลื่อนที่ เช่น มือถือ และการจัดการธุรกิจและการลงทุนที่เกี่ยวกับสารสนเทศ
เรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง
หลังจบสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ สามารถทำงานหรือศึกษาต่อระดับสูงได้ทั้งที่เป็นด้านเทคนิคและด้านการบริหารจัดการ และเนื่องจากวิทยาการคอมพิวเตอร์เน้นการศึกษาด้านหลักการและวิธีการ ดังนั้นนักศึกษาจะมีความรู้ในเชิงลึก ซึ่งทำให้สามารถทำงานในระดับสูงหรืองานด้านการวิจัยและพัฒนาได้ นอกจากนี้ยังสามารถทำงานที่เกี่ยวกับการโปรแกรมและการออกแบบสร้างซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่ได้ แต่ถ้าผู้สำเร็จการศึกษาสนใจด้านการบริหารจัดการ ก็สามารถไปศึกษาต่อด้านการบริหารจัดการหรือการลงทุน โดยการเรียนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์มีข้อได้เปรียบกว่าสาขาอื่นๆ ตรงที่นักศึกษาจะมีความรู้ในเชิงเทคนิคที่แน่นพอ ซึ่งทำให้การทำงานด้านการบริหารจัดการก็จะง่ายและมีพื้นฐานที่ดีต่อการประกอบอาชีพด้านการจัดการที่เกี่ยวกับงานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นักศึกษาสามารถเลือกเรียนเพิ่มเติมด้านการจัดการทำให้สามารถทำงานด้านการให้คำแนะนำแก่บริษัทต่างๆ ได้ นักศึกษาที่จบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์จะสามารถทำงานได้ทั้งด้านเทคนิคและด้านการบริหารจัดการดังนี้
- งานด้านเทคนิคหรืองานผู้เชี่ยวชาญ
ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ
ผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และบำรุงรักษาระบบคอมพิวเตอร์
ผู้เขียนโปรแกรมประยุกต์หรือโปรแกรมระบบงาน หรือที่เรียกว่าโปรแกรมเมอร์
ผู้ออกแบบสร้างและบำรุงรักษาระบบฐานข้อมูลซึ่งเป็นระบบสารสนเทศพื้นฐานในทุกองค์กร
ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ผู้ออกแบบและโปรแกรมคอมพิวเตอร์อัจฉริยะ
ผู้ออกแบบและโปรแกรมระบบกราฟิกหรืออะนิเมชั่น - งานด้านการจัดการหรืองานให้คำปรึกษา
ผู้ประสานงานในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์
ผู้จัดการแผนก ส่วนหรือฝ่ายคอมพิวเตอร์หรือฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์การ
ผู้ให้คำปรึกษาด้านระบบคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยีสารสนเทศแก่องค์กรต่างๆ
ผู้ประกอบธุรกิจหรือนักลงทุนด้านระบบคอมพิวเตอร์
เรียนจบแล้วสามารถทำงานที่ไหนได้บ้าง
จบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์แล้ว เราสามารถทำงานได้ในทุกองค์กรที่มีคอมพิวเตอร์หรือระบบสารสนเทศอยู่ ซึ่งในปัจจุบันเกือบทุกองค์กรไม่ว่าที่เป็นของรัฐหรือเอกชน จะมีระบบคอมพิวเตอร์ใช้งานอยู่แล้ว จึงทำให้ผู้จบด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็นที่ต้องการมาก อย่างไรก็ตามการทำงานด้านระบบคอมพิวเตอร์ในองค์กรมีสองประเภท คือ การทำงานในองค์กรหรือธุรกิจที่ระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแกนหลัก และ การทำงานในองค์กรหรือธุรกิจที่ระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ใช่แกนหลัก
ธุรกิจที่ระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแกนหลักได้แก่ ธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขาย ธุรกิจบริการด้านข้อมูลข่าวสาร ธุรกิจด้านการให้บริการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเตอร์เน็ตหรือระบบเครือข่ายมือถือ ธุรกิจให้บริการด้านพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือที่เรียกว่าธุรกิจคอนซัลแตนต์
ธุรกิจที่ระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้เป็นแกนหลัก ได้แก่
- ธุรกิจผลิตสินค้าหรือโรงงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการเกษตร ด้านอาหาร ด้านรถยนต์ ด้านน้ำมัน ด้านไฟฟ้าและพลังงาน ด้านสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ด้านผลิตเครื่องจักรกล ด้านผลิตภาพยนตร์ เป็นต้น
- ธุรกิจเชิงบริการ ได้แก่ ด้านการธนาคาร ด้านบัญชี ด้านขนส่ง ด้านโรงภาพยนตร์ ด้านค้าปลีกหรือร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น
เรียนต่อด้านไหนได้บ้าง
จบสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์แล้ว สามารถไปศึกษาต่อได้ทั้งด้านเทคนิค และด้านการบริหารจัดการหรือด้านธุรกิจ ทางด้านเทคนิคหรืองานวิจัย ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถไปศึกษาต่อได้ทั้งในและต่างประเทศ โดยเรียนต่อในสาขาที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์โดยตรง เช่น ด้านระบบฐานข้อมูลในองค์กร ด้านเน็ตเวิร์ค ด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ด้านระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะหรือปัญญาประดิษฐ์ และด้านที่นำคอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ในงานสาขาอื่น เช่น ด้านสื่อสารมวลชน ด้านมัลติเมเดีย ด้านอะนิเมชั่น ด้านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการแพทย์ ด้านสารสนเทศชีววิทยา ด้านการสร้างแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ทางเคมีและฟิสิกส์ เป็นต้น
ส่วนด้านการบริหารจัดการหรือด้านธุรกิจนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถศึกษาต่อด้านการบริหารจัดการหรือเอ็มบีเอ ด้านการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ ด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านระบบคอมพิวเตอร์เพื่อบริหารงานบัญชี ด้านระบบคอมพิวเตอร์เพื่องานบุคคล ด้านระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร ด้านการประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ เป็นต้น
ที่มา :
- สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
http://www.siit.tu.ac.th/thai/cs.html
http://www.siit.tu.ac.th/departm/cs.html - สารานุกรมเสรี วิกิพีเดีย
No comments:
Post a Comment